
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี

พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติ เมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗
การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์สมเด็จ พระบรมชนกาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เข้าศึกษาวิชาภาษาไทย เป็นครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) เมื่อได้ทรงผ่านการศึกษาภาษาไทยเป็นเบื้องต้นแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เข้าศึกษาอังกฤษขั้นต้นในสำนักครูรามสามิ และในปีพุทธศักราช ๒๔๒๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เข้าศึกษาภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบพร้อมกับพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าประวัติวรเดช (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) โดยพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้ทรงจัดให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์นั้น เรียนรวมกันเป็นพิเศษต่างหากจากนักเรียนอื่น และโปรดให้มหาปั้น สุขุม (เจ้าพระยายมราช) เป็นครูผู้สอน โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ตรงกับวันที่ ๒๖ ธันวาคม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ,พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์, พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช พร้อมกันทั้งสี่พระองค์ในคราวเดียวกันครั้งทำพิธีโสกันต์เสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์ผนวชเป็นสามเณรประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยมานานแล้วว่า บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชาย เมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้ว จะโปรดให้ไปเรียนวิชาความรู้ถึงยุโรปทุกพระองค์ ด้วยเหตุนี้หลังจากที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า รพีพัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธออีก ๓ พระองค์ ได้ทรงผนวชเณรและลาผนวชแล้ว สมเด็จ พระบรมชนกาธิราชจึงได้โปรดให้พระยาชัยสุรินทร( ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) เป็นผู้พาพระเจ้าลูกยาเธอ ทั้งสี่พระองค์ไปส่งยังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งเป็นอัครราชทูตสยามอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทรงจัดการให้เล่าเรียนต่อไป และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีครูภาษาไทยติดตามไปถวายพระอักษรแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ณ ยุโรปด้วย คือ พระยายมราช ซึ่งได้เป็นครูผู้คุ้นเคยและสนิทสนมกับพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์อยู่แล้ว พร้อมทั้งทรงกำชับพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์ที่จะไปศึกษาวิชา ณ ทวีปยุโรปว่า “ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่งติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็กไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย” เมื่อได้เสด็จไปถึงกรุงลอนดอนแล้ว ในชั้นแรกทีเดียวพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ได้ทรงหาครูฝรั่งคนหนึ่งมาสอนภาษาอังกฤษให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์เสมอทุกวัน ครั้งเวลาว่างก็ให้เจ้าพระยายมราชสอนภาษาไทยถวายต่อมาราว ๑ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่นั้นมาเจ้าพระยายมราชก็รับหน้าที่เป็นทั้งครู และพระอภิบาลพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์นั้น
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์เสร็จกลับมาชั่วคราวตามพระประสงค์เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์เสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์พร้อมด้วยเจ้าพระยายมราชกลับมากรุงเทพฯ ทางทวีปอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น มาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนสิบสอง ปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ ตรงกับวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๐ เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯแล้ว สมเด็จพระปิยมหาราชองค์สมเด็จพระบรมชนกาธิราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทั้งสี่พระองค์ไปทรงเรียนที่พระตำหนักสวนกุหลาบ โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเช่นเดียวกับก่อนเสด็จไปยุโรป พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์ เสด็จกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงปลายปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ไปราชการยังทวีปยุโรป จึงโปรดเกล้าฯให้พาพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์กลับไปส่งยังประเทศอังกฤษด้วย การเสด็จไปครั้งนี้ไปทางเมืองพม่าและอินเดียก่อนแล้วจึงไปลงเรือเมล์ที่เมืองบอมเบย์ไปยุโรป เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกยาเธอในอันที่จะได้ทรงทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองของชนชาติต่างๆ หลายเมือง โดยมีผู้ร่วมเสด็จด้วย คือ เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้ทรงเจ้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ในกรุงลอนดอน ๓ ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว สมเด็จพระบรมชนกาธิราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ทรงเลือกศึกษาวิชาการฝ่ายพลเรือน พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ สมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปเยี่ยมตอบแกรนดยุ๊กซาเรวิชซึ่งเป็นรัชทายาทประเทศรัสเซียที่ได้เสด็จมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ และได้ทรงมอบให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ไปเข้าวิทยาลัยไครส์ตเชิช ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Chistchurch College, Oxford) (วิทยาลัยไครส์ตเชิชนี้ก็คือ วิทยาลัยคาร์ดินาล (Czrdinal) ของวูลเซย์ ซึ่งต่อมาพระเจ้าเฮนรี่ ที่ ๘ ได้ทรงปรับปรุงและพระราชทานนามใหม่ว่า ไครส์ตเชิช วิทยาลัยนี้เป็นวิทยาลัยที่สมเด็จพระมหาธีรราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวิชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระเจ้าวรวงศ์ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิศ (พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร์) ได้เคยทรงศึกษาเมื่อทรงประทับอยู่ออกซ์ฟอร์ด) เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยไครส์ตเชิชแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้ทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญา B.A. (เกียรตินิยม) ในทางกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เมื่อได้ทรงประสบผลสำเร็จทางการศึกษาแล้ว ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ
การรับราชการและตำแหน่งหน้าที่สำคัญ
๑. เริ่มรับราชการในสำนักราชเลขานุการ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี
๒. เป็นสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ เพื่อจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมหัวเมืองทั้งปวงและสะสางคดีความทั่วราชอาณาจักร
๓. เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
๔. เป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย
๕. เป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา
๖. เป็นกรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล
๗. เป็นกรรมการตรวจร่างกฎหมายลักษณะอาญา
๘. เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
พระราชกรณียกิจ
ด้วยพระปรีชาสามารถอันเป็นอัจฉริยะ ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะของพระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายไทย กล่าวคือ
๑. ปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่
เมื่อพระองค์ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาข้าหลวงพิเศษออกไปชำระสะสางกฎหมายต่างๆ รวมทั้งธรรมเนียมศาลและชำระสะสางคดีความต่างๆที่คั่งค้างอยู่มากมายในพระราชอาณาจักร เนื่องจากกิจการศาลและกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นยังไม่เรียบร้อย ไม่ทันสมัย คดีความคั่งค้างไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี งานของศาลต่างๆยังสับสนยุ่งยากแก่การพิจารณาคดี พระองค์ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่ามาสู่ระบบใหม่ ปรับปรุงศาลต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง พร้อมทั้งแก้บทกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและวิธีพิจารณาความอาญาเสียใหม่ ทำให้ราชการศาลยุติธรรมของไทยเจริญมั่นคงทัดเทียมกับนานาอารยประเทศมาจนทุกวันนี้
๒. ตรวจชำระสะสางกฎหมาย
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นประธานการตรวจชำระกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายต่างๆในสมัยนั้นยังไม่เป็นหมวดเป็นหมู่บทพระอัยการต่างๆแยกย้ายกันอยู่อย่างสลับซับซ้อนค้นหาได้ยากมาก พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการตรวจชำระบทอัยการต่างๆมาประมวลเข้าเป็นกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ นับว่าเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก เพิ่งมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พุทธศักราช ๒๔๙๙ ซึ่งประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ นี้เอง รวมใช้มาเป็นเวลาถึง ๔๙ ปี
การร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ นี้ พระองค์ต้องทรงเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องทรงร่วมพิจารณาอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๐ มาสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ใช้เวลาถึง ๑๑ ปี และเมื่อได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วก็ยังทรงเป็นห่วงใยว่าผู้ใช้กฎหมายในเวลาต่อมาจะได้รับความลำบากในการตีความ ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ร่างเดิม เนื่องจากต้นร่างเขียนเป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นภาษาไทย แล้วตรวจชำระถ้อยคำให้เป็นภาษาไทยที่รัดกุมเป็นภาษากฎหมาย ความหมายบางคำจึงไม่อาจตรงกับร่างเดิม พระองค์จึงทรงแต่งคำอธิบายและทรงแปลต้นร่างเป็นภาษาไทยเรียกว่า ฉบับเทียบ สำหรับเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างกับตัวกฎหมายที่เรียกว่า ฉบับหลวง
๓. ตั้งโรงเรียนกฎหมาย
พระองค์ทรงดำริว่า การที่จะให้ราชการศาลยุติธรรมดำเนินไปด้วยดีนั้นจำเป็นต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้น และการที่จะจัดเช่นนั้นได้ ก็คือ เปิดให้มีการสอนวิชากฎหมายขึ้นให้เป็นการแพร่หลาย ให้โอกาสแก่บุคคลที่สนใจเข้าศึกษาได้ พระองค์จึงทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นการเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก โรงเรียนกฎหมายในขณะนั้นจัดขึ้นเป็นกึ่งราชการ คล้ายหอพระสมุดสำหรับพระนครเจ้าหน้าที่เรียกว่า กรรมสัมปาทิก มีสภานายก เลขานุการ เหรัญญิก และผู้ช่วยสองคน สถานที่สอนชั้นแรกใช้ห้องเสวยซึ่งอยู่ติดกับห้องเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนห้องนั้นไม่เพียงพอ จึงย้ายไปสอนที่ตึกสัสดีหลังกลาง พระองค์ทรงเป็นครูสอนด้วยพระองค์เอง กับมีอาจารย์ที่ร่วมสอนกฎหมายในชุดแรก คือ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระองค์เจ้าวัชรีวงษ์ ปรากฏว่ามีนักศึกษาและนักกฎหมายเข้าศึกษากับพระองค์ท่านมากมายจนกระทั่งถึงกับนั่งพื้นก็มี พระองค์ท่านต้องทรงเตรียมการสอนในตอนกลางคืน ถึงกับต้องจุดตะเกียงอ่านหนังสือเตรียมการสอน เพื่อเข้าสอนในตอนเช้า
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้นเอง พระองค์ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิต สถานที่สอบไล่ใช้ศาลาการเปรียญใหม่ของวัดมหาธาตุ กรรมการสอบมีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ผู้สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก ๙ คน ล้วนเคยทำงานมาแล้วคะแนนแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่หนึ่งมี ๔ คน ชั้นที่สองมี ๕ คน ในชั้นที่ ๑ มีผู้ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ๑ คน คือ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ได้รับยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตคนแรก ต่อมาก็มีการสอบไล่ประจำปีได้เนติบัณฑิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนติบัณฑิตเหล่านี้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนกฎหมาย ช่วยแบ่งเบาภาระของพระองค์ลงมาก
รายนามเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีดังต่อไปนี้
๑.นายลออ ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหิธรได้รับการยกย่องว่าเป็น เนติบัณฑิตคนแรก
๒.นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (เทียม บุนนาค) ภายหลังเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
๓.นายบุ สุวรรณศร ภายหลังเป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔.นายถึก ภายหลังเป็นหลวงนิเทศยุติณาณ
ชั้นที่ ๒
๕.นายทองดี ธรรมศักดิ์ ภายหลังเป็นพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
๖.นายจำนง อมาตยกุล ภายหลังเป็นพระยาเจริญราชไมตรี
๗.นายเสนอ งานประภาษ ภายหลังเป็นพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย)
๘.นายโป๋ คอมันตร์ ภายหลังเป็นพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย
๙.ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ภายหลังเป็นพระยามหาวินิจฉัยมนตรี
๔. รวบรวมและแต่งตำรากฎหมาย
นอกจากพระองค์จะทรงสอนกฎหมายประจำทุกวันแล้ว พระองค์ยังทรงแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆมากมาย ทรงรวบรวมกฎหมายตราสามดวงอันเป็นกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ทรงรวบรวมพระราชบัญญัติบางฉบับและคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องพิมพ์ขึ้นเป็นสมุดเล่มใหญ่ แบ่งเป็นหมวดหมู่ มีคำอธิบายและสารบาญรายละเอียดกฎหมายตราสามดวงที่ทรงรวบรวมให้ชื่อว่า กฎหมายราชบุรี ส่วนพระราชบัญญัติบางฉบับ ให้ชื่อว่า พระราชบัญญัติราชบุรี
๕. เป็นกรรมการตรวจตัดสินความศาลฎีกา
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา กรรมการชุดนี้มีชื่อเรียกว่า ศาลกรรมการฎีกา ทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ แต่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม ในภายหลังได้กลายสภาพมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
๖. ตั้งกองพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ
พระองค์ทรงร่วมจัดราชการฝ่ายการราชทัณฑ์ ให้เป็นไปตามหลักวิชาแบบอย่างอารยประเทศ ทรงวางข้อบังคับเรือนจำกองมหันตโทษ การตรวจเรือนจำโดยผู้พิพากษาทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้นที่กองลหุโทษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ สำหรับตรวจพิมพ์ลายมือผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดหลายครั้งที่ไม่เข็ดหลาบ พระองค์ได้เสด็จไปสอนวิชาตรวจเส้นลายมือและวิธีเก็บเส้นลายมือด้วยพระองค์เอง โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย งานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจทำอยู่ทุกวันนี้
๗. งานด้านกรมที่ดิน
ขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ พระองค์ได้ทรงปรับปรุงกิจการกรมทะเบียนที่ดินให้เจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก ทรงแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ในเรื่องการทะเบียนที่ดิน และทรงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบการที่ดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ ๓ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๖๒
ทรงลาพักราชการรักษาพระองค์และวาระสุดท้าย
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ ได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาพักราชการเพื่อรักษาพระองค์ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๖๒ ให้ทรงลาพักราชการจนกว่าจะหายประชวรและได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ ประเทศยุโรป ประทับที่กรุงปารีส แพทย์ได้ทำการผ่าตัดจัดการรักษาและถวายโอสถอย่างเต็มความสามารถของแพทย์ที่จะใช้ความรู้ประคับประคองไว้อีกได้ จนกระทั่ง ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ เวลา ๒๑ นาฬิกา พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส นั้นเอง พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา พระศพของพระองค์ท่านได้รับการประกอบพิธีถวายเพลิงพระศพ ณ กรุงปารีส และได้อันเชิญพระอัฐิเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๓
พระบิดาแห่งกฎหมายไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ผู้ที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งยวด ทรงถือว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะสำหรับนักกฎหมาย และทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้มีผู้รู้กฎหมายจำนวนมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยกันผดุงความยุติธรรมให้บังเกิดแก่อาณาประชาชน ได้ทรงเริ่มจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นและเป็นผู้สอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง ทรงจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่ามาสู่ระบบใหม่ ทรงรวบรวมกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในเวลานั้น พระราชบัญญัติบางฉบับ และคำพิพากษาฎีกา พิมพ์ขึ้นพร้อมคำอธิบายและสารบาญรายละเอียดเพื่อสะดวกแก่การค้นคว้า ทั้งทรงแต่งตำราอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆอีกมากมาย การค้นคว้ารวบรมและพระนิพนธ์เหล่านี้ได้เป็นรากฐานก่อตั้งการศึกษานิติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย อันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติ จึงทรงได้รับยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” และเรียกวันที่ ๗ สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นประชนม์ของพระองค์ว่า “วันรพี”