ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
ความหมายของเด็กและเยาวชน
เด็ก หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่าอายุที่กำหนดไว้ตามมาตรา 73 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์
เยาวชน หมายถึง บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง สิบแปดปีบริบูรณ์
การจับกุมเด็กและเยาวชน
การจับกุมเด็ก ห้ามมิให้จับกุมเด็ก เว้นแต่
- เด็กกระทำความผิดซึ่งหน้า
- มีหมายจับของศาล
- มีคำสั่งของศาล
การจับกุมเยาวชน จะจับกุมเยาวชนโดยไม่มีหมายจับ หรือคำสั่งศาลมิได้ เว้นแต่
๑) เยาวชนได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
๒) มีพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเยาวชนน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
๓) มีเหตุจะออกหมายจับเยาวชนแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
๔) เป็นการจับเยาวชนที่หนีหรือจะหลบหนีระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
การตรวจสอบการจับ
๑) ตรวจสอบว่ามีการส่งตัวเด็กหรือเยาวชนมาศาลภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือไม่
๒) ศาลจะตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ ถ้าเด็กหรือเยาวชนยังไม่มี
๓) ตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่
๔) การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
๕) การปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนหลังการตรวจสอบการจับ
- ศาลอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลระหว่างดำเนินคดี
- ถ้าเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นหรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจควบคุมไว้ที่สถานพินิจหรือสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร
- ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่นในกรณีที่เยาวชนมีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์
การสอบสวน
- กระทำในสถานที่เหมาะสม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่น
- ใช้ภาษาและถ้อยคำที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนเข้าใจได้ง่าย จัดหาล่าม หรือเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกให้
- จัดที่ปรึกษากฎหมายให้ทุกครั้ง
- ให้บิดามารดาผู้ปกครองเข้าฟังการสอบสวนได้
การผัดฟ้อง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
เมื่อจับกุมเด็กหรือเยาวชนแล้วพนักงานสอบสวนต้องรีบสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องให้ทันภายใน ๓๐ วัน หากยื่นฟ้องไม่ทันพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้องต่อศาล ดังนี้
๑) ความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกเกิน ๖ เดือน แต่ ไม่เกิน ๕ ปี ผัดฟ้องได้ ๒ ครั้ง ๆ ละ ไม่เกิน ๑๕ วัน
๒) ความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกเกิน ๕ ปี ผัดฟ้องได้ ๔ ครั้ง ๆ ละ ไม่เกิน ๑๕ วัน
การผัดฟ้องถ้าไม่มีที่ปรึกษากฎหมายให้ศาลตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ด้วย และหากยื่นฟ้องเกินกำหนดเวลาต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย
การฟ้องคดีอาญา
ยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว โดยไม่คำนึงว่าขณะยื่นฟ้องจำเลยมีอายุพ้นเกณฑ์เยาวชนแล้วหรือไม่ เนื่องจากให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีก่อนฟ้องคดี
- เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เว้นแต่ ประมาท ลหุโทษ
- เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำความผิดก่อนฟ้องคดี
- ผอ.สถานพินิจเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนจะกลับตัวเป็นคนดีโดยไม่ต้องฟ้องจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ
- การจัดทำแผนต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย และเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด
- เสนอแผนแก้ไขฟื้นฟูเพื่อให้อัยการพิจารณาหากเห็นชอบ ดำเนินการตามแผน และรายงานต่อศาล
- หากศาลเห็นชอบให้พนักงานสอบสวน อัยการ งดการดำเนินคดีไว้ก่อน และมิให้นับระยะเวลาปฏิบัติตามแผนรวม เข้าในกำหนดเวลาผัดฟ้อง
- หากศาลไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ให้ดำเนินคดีแก่เด็กหรือเยาวชนต่อไป
- หากเด็กหรือเยาวชนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามแผนให้ดำเนินคดีแก่เด็กหรือเยาวชนต่อไป
- หากเด็กหรือเยาวชนดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียฟ้องทางแพ่ง
มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีหลังฟ้องคดี
- เด็กหรือเยาวชนทำผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เว้นประมาท ลหุโทษ
- เด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำความผิด
- ผู้เสียหายยินยอม และโจทก์ไม่คัดค้าน
- ศาลสั่งให้ ผอ.สถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรจัดทำแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเสนอต่อศาล
- เมื่อศาลเห็นชอบให้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ถ้าไม่เห็นชอบให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
- หากเด็กหรือเยาวชนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามแผนให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
- หากเด็กหรือเยาวชนดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีและมีคำสั่งเรื่องของกลาง โดยให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้มีส่วนได้เสียฟ้องทางแพ่ง
การพิจารณา
- เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ศาลแจ้งให้สถานพินิจ บิดามารดา ผู้ปกครองทราบนัด และหากเห็นสมควรจะสั่งให้มาฟังการพิจารณาด้วยก็ได้
- การพิจารณาเป็นการลับ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้นมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดี
- การพิจารณาคดีไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด
- พิจารณาคดีในห้องที่มิใช่ห้องพิจารณาคดีธรรมดา หรือ ไม่ปะปนกับการพิจารณาคดีธรรมดา
- ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการ เว้นแต่คดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน ๑๐ ปี
การพิพากษา
- ศาลจะพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนได้เมื่อได้รับรายงานจาก ผอ.สถานพินิจแล้ว
- การอ่านคำพิพากษาให้กระทำเป็นการลับ
- ถ้าศาลเห็นว่ายังไม่สมควรมีคำพิพากษา ศาลจะกำหนดเงื่อนไขหรือส่งไปยังสถานพินิจหรือสถานที่ที่เห็นสมควรหรือใช้วิธีการสำหรับเด็ก หรือเยาวชนถ้าปฏิบัติครบถ้วน ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา
- ศาลจะคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตนเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าลงโทษ และคำนึงถึงบุคลิกลักษณะสภาพร่างกายและจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนๆไปและลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
งานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์
e-mail : kcbjc@coj.go.th